รอบสะสมเงินรางวัล ของ ชิงร้อยชิงล้าน ชะช่ะช่า

ในชิงร้อยชิงล้าน ชะชะช่า นั้นยังคงใช้รูปแบบเดียวกับชิงร้อยชิงล้าน Super Game โดยมี 2 รอบและ 2 เกมด้วยกันในยุคแรก ยุคกลาง และยุคสุดท้าย ต่อมาในยุคสุดท้ายเหลือเกมเดียวแต่สะสม 2 รอบ แต่ถูกปรับปรุงมาหลายครั้งด้วยกันโดยเงินรางวัลสะสมนั้นเป็นเงินรางวัลสำหรับผู้ที่เข้ารอบ Jackpot โดยเงินรางวัลนั้นไปรวมยอดกับเงินรางวัลรอบสุดท้ายไปด้วย

ถังแตก

เกมถังแตกเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ถึงปี พ.ศ. 2549 โดยใช้รูปแบบเดียวกันกับชิงร้อยชิงล้าน Super Game ในเกมนี้จะมีแผ่นป้ายของผู้สนับสนุนรายการทั้ง 12 แผ่นป้าย ในแต่ละป้ายจะมีป้ายผู้สนับสนุนหลักในรอบถังแตกอยู่ 8 แผ่นป้ายหมายถึงได้เงินรางวัล 10,000 บาท (ผู้สนับสนุนหลักในการแจกเงิน 100,000 บาท คือตู้เซฟลีโก้ ต่อมาเป็นทเวลฟ์ พลัส (ใช้เพียงระยะสั้นๆ) ผงชูรสอายิโนะทะกะระ ตราภูเขา ผงปรุงรสรสหนึ่ง และกาแฟกระป๋องเบอร์ดี้) และป้ายถังแตกอีก 4 แผ่นป้าย ถ้าเปิดเจอถังแตกครบทั้ง 4 แผ่นป้าย จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท แต่ถ้าเปิดเจอเปิดเจอป้ายผู้สนับสนุนหลักครบทั้ง 8 แผ่นป้าย จะได้รับเงินรางวัลเพียง 80,000 บาทเท่านั้น ถ้าเปิดป้ายผู้สนับสนุนหลักแล้วป้ายต่อไปเป็นถังแตก จะถือว่าเกมจะหยุดลงทันทีและได้เงินรางวัลตามที่สะสมไว้ แต่ถ้าผู้เข้าแข่งขันเปิดแผ่นป้ายแรกเป็นถังแตก แล้วป้ายต่อไปเป็นผู้สนับสนุนหลัก จะถือว่าเกมจะหยุดลงทันทีพร้อมรับเงินรางวัล 10,000 บาทไปด้วย (ซึ่งสถิติในการเปิดป้ายเจอผู้สนับสนุนหลักมากที่สุดคือ 6 ใบ) โดยในรอบนี้มีแจ็คพอตแตกถึง 4 ครั้ง

เหตุการณ์แจ๊กพอตแตกทั้ง 4 ครั้งในรอบถังแตก
  1. ครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 เป็นทีมของ สายฟ้า เศรษฐบุตร / เต่า เชิญยิ้ม และทีมของ ภัครมัย โปตระนันท์ / คณิตกุล เนตรบุตร (แพรว คูณสามซูเปอร์แก๊ง)
  2. ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2543 โดย 3 ผู้เข้าแข่งขันคือ อานนท์ สายแสงจันทร์ (ปู แบล็คเฮด) , อัยย์ พรรณี และ เหลือเฟือ มกจ๊ก
  3. ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2544 โดย 3 ผู้เข้าแข่งขันคือ สุวินิต ปัญจมะวัต , แวร์ โซว และ ชาติชาย งามสรรพ์
  4. ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2547 โดย 3 ผู้เข้าแข่งขันคือ ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ , เมย์ เฟื่องอารมย์ และ พนมกร ตังทัตสวัสดิ์

โดยแจ๊กพอตแตกทั้ง 4 ครั้งนี้ เป็นการเปิดเจอถังแตกติดกัน 4 แผ่นป้ายทั้ง 4 ครั้ง

ในกลางปี พ.ศ. 2549 ถึงต้นปี พ.ศ. 2552 ถูกปรับเปลี่ยนโดยในเกมนี้จะมีแผ่นป้ายของผู้สนับสนุนรายการ 12 แผ่นป้าย แบ่งเป็นป้ายผู้สนับสนุนหลัก 6 แผ่นป้ายหมายถึงได้เงินรางวัล 10,000 บาท (ผู้สนับสนุนหลักในการชิงโชค คือ กาแฟกระป๋องเบอร์ดี้) และแผ่นป้ายผู้สนับสนุนหลักที่มีรูปถังแตกอีก 6 แผ่นป้าย ถ้าเปิดเจอผู้สนับสนุนหลักครบ 6 แผ่นป้าย จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท แต่ถ้าเปิดแผ่นป้ายผู้สนับสนุนหลัก ป้ายต่อไปเป็นถังแตก จะถือว่าเกมจะหยุดลงทันทีและได้เงินรางวัลตามที่สะสมไว้ แต่ถ้าผู้เข้าแข่งขันเปิดแผ่นป้ายแรกเป็นถังแตก ก็จะไม่ได้รับเงินรางวัลสะสมเลยในเกมนี้ เกมนี้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 (ชิงร้อยชิงล้าน Super Game) ถึงปี พ.ศ. 2552 (ในยุคชิงร้อยชิงล้าน ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ตั๊ก)

จับคู่

เกมนี้เป็นการจับคู่กาแฟกระป๋องเบอร์ดี้ ซึ่งเกมนี้เป็นเกมที่มาจากยุค ชิงร้อยชิงล้าน Super Game ช่วงที่ย้ายจากช่อง 7 มาช่อง 3 โดยจะมีแผ่นป้ายของผู้สนับสนุนรายการทั้งหมด 12 แผ่นป้าย ซึ่งจะมีแผ่นป้ายของกาแฟ 2 รส รสละ 6 แผ่นป้าย [โรบัสต้าและมิลค์กี้คอฟฟี่ (ภายหลังเป็นซูเปอร์เบลนด์)] โดยให้เลือกมา 8 แผ่นป้าย โดยจะต้องเปิดให้ได้โรบัสต้าหรือซูเปอร์เบลนด์ (มิลค์กี้คอฟฟี่) 3 ใน 4 ของแผ่นป้ายทั้งหมด ถ้าหากจับคู่ได้ถูกต้องจะได้คู่ละ 20,000 บาท ถ้าไม่ถูกต้องจะไม่ได้เงินรางวัลใดๆ ถ้าหากจับคู่ได้โรบัสต้าหรือซูเปอร์เบลนด์ (มิลค์กี้คอฟฟี่) 3 ใน 4 จะได้รับเงินรางวัล 1,000,000 บาททันที ถ้าหากจับคู่ได้อย่างละ 2 ใน 4 จะได้รับเงินรางวัล 80,000 บาทแต่แจ็คพอตจะไม่แตก เกมนี้เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2541 (ใช้ต่อจากยุค ชิงร้อยชิงล้าน Super Game ช่วงที่ย้ายจากช่อง 7 มาช่อง 3) และยกเลิกในปีเดียวกัน โดยไม่มี Jackpot แตกเลย แต่เคยมีเหตุการณ์ที่เกือบแจ๊กพอตแตก เมื่อเทปวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2541 โดยจับคู่ได้เบอร์ดี้ รสโรบัสต้า 2 คู่ เบอร์ดี้ รสซูเปอร์เบลนด์ 1 คู่ แต่คู่สุดท้ายจับคู่ไม่สำเร็จ เพราะเปิดได้เบอร์ดี้ รสโรบัสต้าและรสซูเปอร์เบลนด์อย่างละ 1 แผ่นป้าย โดยได้เงินรางวัลสะสมในรอบนี้ 60,000 บาท

ภายหลังในช่วงกลางปี พ.ศ. 2543 ก็ได้นำเกมนี้มาเล่นใหม่อีกครั้ง แต่กติกาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยจะมีรูปของผลิตภัณฑ์ผู้สนับสนุน 2 ชนิด (ในปี 2543 คือเครื่องดื่มรสนมเปรี้ยวคาลพิโก้รสส้มและรสองุ่น ต่อมาในปี 2544 เปลี่ยนกลับมาเป็นกาแฟกระป๋องเบอร์ดี้รสโรบัสต้า และรสซูเปอร์เบลนด์ อีกครั้งหนึ่ง โดยจะมีแผ่นป้ายของผู้สนับสนุนรายการ 12 แผ่นป้าย ซึ่งด้านหลังแผ่นป้ายนั้นจะมีรูปกระป๋องของแต่ละรส ซึ่งจะมี 6 แผ่นป้ายต่อรสชาติ โดยให้เลือก 8 แผ่นป้าย โดยจะต้องวางบนแถวบน 4 แผ่นป้าย แถวล่างอีก 4 แผ่นป้าย ถ้าหากจับคู่ตรงกับรสชาติจะได้รับเงินรางวัลสะสม 5,000 บาท แต่ถ้าไม่ตรงกันจะไม่ได้รางวัล ถ้าหากจับคู่ได้ทั้งหมดครบ 8 แผ่นป้าย จะได้เงินรางวัล 1,000,000 บาททันที เกมนี้ใช้เล่นตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2543 ถึง กลางปี พ.ศ. 2544 ซึ่งในรอบนี้มีแจ๊กพอตแตก 1 ครั้ง คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544

สลับตำแหน่ง

เกมนี้เป็นการวางสลับตำแหน่งของกาแฟกระป๋องเบอร์ดี้ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักในเกมนี้ ในเกมนี้จะมีรูปผลิตภัณฑ์ผู้สนับสนุนหลัก 2 ชนิด ชนิดจะ 6 แผ่นป้าย (โดยช่วงแรกคือ กาแฟกระป๋องเบอร์ดี้ รสโรบัสต้ากับซุปเปอร์เบลนด์ ส่วนในปี 2542 ได้ปรับเปลี่ยนเป็นโลโก้เบอร์ดี้และคาลพิโก้) โดยจะมีแผ่นป้ายของผู้สนับสนุนรายการทั้งหมด 12 แผ่นป้าย โดยให้เลือกแผ่นป้ายมา 8 แผ่นป้าย โดยถ้าป้ายแรกเป็นกาแฟกระป๋องรสอะไร ป้ายต่อไปต้องสลับไปเป็นอีกรสหนึ่งเท่านั้น ถ้าสลับกับป้ายก่อนหน้านั้นจะได้เงินรางวัลสะสมป้ายละ 5,000 บาท ถ้าซ้ำกับป้ายก่อนหน้านั้นจะไม่ได้รางวัล (สำหรับแผ่นป้ายแรกที่เปิด จะได้เงินสะสม 5,000 บาทโดยอัตโนมัติ) ถ้าสลับกันครบทุกป้าย จะได้เงินรางวัลสะสม 1,000,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2541 ช่วงที่ย้ายไปช่อง 5

ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ได้ปรับกติกาเล็กน้อยและเปลี่ยนผู้สนับสนุนเป็นเครื่องดื่มเป๊ปซี่(โดยรสพิเศษที่ผู้ผลิตได้ผลิตออกมาในขณะนั้นคือ เป๊ปซี่ ไฟร์&ไอซ์) โดยส่วนบนจะมีแผ่นป้ายรสไฟร์และไอซ์ อย่างละ 3 แผ่นป้าย และมีแผ่นป้ายผู้สนับสนุนรายการ 12 แผ่นป้าย แบ่งเป็นแผ่นป้ายรสไฟร์ 6 แผ่นป้าย และแผ่นป้ายรสไอซ์ 6 แผ่นป้าย โดยให้ผู้เข้าแข่งขันเลือกแผ่นป้ายของผู้สนับสนุนรายการมา 6 แผ่นป้าย และเปิดให้สลับรสก่อนหน้านี้ในส่วนบน(เช่น ไฟร์-ไอซ์ และ ไอซ์-ไฟร์) ถ้าสลับกับป้ายรสชาติก่อนหน้านั้นจะได้รับเงินรางวัลสะสม 5,000 บาท แต่ถ้าหากเปิดซ้ำคู่กันจะไม่ได้รับเงินรางวัลสะสม ทั้งนี้ถ้าหากผู้เข้าแข่งขันสามารถเปิดสลับกันครบ 6 แผ่นป้าย ทั้ง 2 รสชาติ จะได้รับเงินรางวัลสะสม 1,000,000 บาท

ต่อชิ้นส่วน

เกมนี้เริ่มใช้เมื่อกลางปี พ.ศ. 2544 ถึงต้นปี พ.ศ. 2550 เป็นการวางตำแหน่งจิ๊กซอว์ชิ้นส่วนของกาแฟกระป๋องเบอร์ดี้ และต่อมาเปลี่ยนผู้สนับสนุนหลักเป็นเครื่องดื่มกระป๋องเป๊ปซี่ โดยจะมีรูปกาแฟกระป๋อง 2 รสชาติ (โรบัสต้าและซุปเปอร์เบลนด์) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน (บน,กลาง,ล่าง) ส่วนละ 2 แผ่นป้ายต่อ 1 รสชาติ ผู้แข่งขันต้องเลือกแผ่นป้ายผู้สนับสนุนของรายการทั้งหมด 6 แผ่นป้ายมาวางตามตำแหน่งของกาแฟกระป๋องแต่ละรสชาติ หากถูกรสชาติและถูกตำแหน่ง จะได้รับตำแหน่งละ 5,000 บาท แต่ถ้าหากไม่ถูกตำแหน่ง ไม่ถูกรสชาติ ถูกรสชาติ ไม่ถูกตำแหน่ง หรือถูกตำแหน่งแต่ไม่ถูกรสชาติ จะไม่ได้เงินรางวัลใดๆ หากวางตำแหน่งได้ถูกต้อง 1 กระป๋อง จะได้รับเงินรางวัลสะสม 100,000 บาท และถ้าหากวางตำแหน่งได้ถูกต้องทั้ง 2 กระป๋อง จะได้รับเงินรางวัลสะสม 1,000,000 บาท

ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 (เมื่อเปลี่ยนฉากใหม่) มีการเปลี่ยนกติกาเล็กน้อย โดยรูปกาแฟกระป๋องยังแบ่งเป็น 2 กระป๋องเช่นเดิม แต่จะมีเพียงแค่ 2 ส่วน (บน,ล่าง) ส่วนละ 3 แผ่นป้ายต่อ 1 รสชาติ โดยต้องเลือกแผ่นป้ายผู้สนับสนุนรายการมา 4 แผ่นป้าย และเปิดให้เป็นชิ้นส่วนบนและชิ้นส่วนล่างของกาแฟกระป๋องตรงตำแหน่งกันจะได้เงินรางวัล 5,000 บาทแต่เปิดป้ายเจอชิ้นส่วนบนหรือส่วนล่างแต่ไม่ตรงกันจะไม่มีเงินรางวัลอย่างใด ทั้งนี้ถ้าวางตำแหน่งจิ๊กซอว์ชิ้นส่วนบนและชิ้นส่วนล่างของกาแฟกระป๋องตรงกัน 1 กระป๋องรสชาติ จะได้เงินรางวัล 100,000 บาท แต่ถ้าวางตำแหน่งตรงกันทั้ง 2 กระป๋อง จะได้รับเงินรางวัลสะสม 1,000,000 บาท

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2546 (เมื่อเหลือเพียง 1 รสชาติ คือรสโรบัสต้าเท่านั้น) จึงได้มีการปรับเปลี่ยนกติกาอีกครั้ง โดยจะมีรูปกาแฟกระป๋องรสโรบัสต้าส่วนบนทั้งหมด 6 กระป๋อง แบ่งเป็น 2 แถว แถวละ 3 กระป๋อง และมีแผ่นป้ายผู้สนับสนุนรายการ 12 แผ่นป้าย โดยแบ่งออกเป็นชิ้นส่วนบน 6 แผ่นป้าย และชิ้นส่วนล่าง 6 แผ่นป้าย โดยจะต้องเลือกแผ่นป้ายผู้สนับสนุนรายการมา 6 แผ่นป้าย และเปิดให้เป็นชิ้นส่วนล่างของกาแฟกระป๋องเท่านั้น ถ้าเปิดได้ชิ้นส่วนล่าง 1 กระป๋อง จะได้รับเงินรางวัลสะสมกระป๋องละ 5,000 บาท แต่ถ้าหากเปิดได้เป็นชิ้นส่วนบนจะไม่ได้รับเงินรางวัลสะสม ทั้งนี้ถ้าสามารถวางตำแหน่งจิ๊กซอว์ของกระป๋องถูกต้องได้ 1 แถว หรือ 3 กระป๋อง จะได้รับเงินรางวัลสะสม 100,000 บาท แต่ถ้าสามารถวางตำแหน่งของกระป๋องได้ถูกต้องทั้ง 2 แถว หรือ ถูกทั้งหมด 6 กระป๋อง จะได้รับเงินรางวัลสะสม 1,000,000 บาท

ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 (เมื่อย้ายมาช่อง 7) ได้เปลี่ยนผู้สนับสนุนเป็นเครื่องดื่มเป๊ปซี่ โดยมีรูปเครื่องดื่มกระป๋องเป๊ปซี่ 6 กระป๋องส่วนบน และมีแผ่นป้ายผู้สนับสนุนรายการ 12 แผ่นป้ายโดยแบ่งเป็นชิ้นส่วนบน 6 แผ่นป้าย และชิ้นส่วนล่าง 6 แผ่นป้ายตามรสที่ผู้ผลิตได้ผลิตออกมาในขณะนั้น (รสพิเศษที่ผู้ผลิตได้ผลิตออกมาในขณะนั้นคือ เป๊ปซี่ ลาเต้ ต่อมาเป็น เป๊ปซี่ โกลด์) โดยให้ผู้เข้าแข่งขันเลือกแผ่นป้ายของผู้สนับสนุนรายการมา 6 แผ่นป้าย และเปิดให้เป็นชิ้นส่วนล่างของเครื่องดื่มกระป๋องเป๊ปซี่ ถ้าเปิดได้เป็นชิ้นส่วนล่างจะได้รับเงินรางวัลสะสม 5,000 บาท แต่ถ้าหากเปิดได้เป็นชิ้นส่วนบนจะไม่ได้รับเงินรางวัลสะสม ทั้งนี้ถ้าหากผู้เข้าแข่งขันสามารถเปิดแผ่นป้ายชิ้นส่วนล่างของเครื่องดื่มกระป๋องเป๊ปซี่ครบ 6 กระป๋อง จะได้รับเงินรางวัลสะสม 1,000,000 บาท

พรานทะเลพรานเท่ง

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ. 2550 มีการเปลี่ยนแปลงเป็นจับคู่เหมือน โดยผลิตภัณท์อาหารแช่แข็งยี่ห้อพรานทะเลเป็นผู้สนับสนุนเงินรางวัลและเป็นผู้สนับสนุนหลักในเกมนี้ โดยมีแผ่นป้ายผู้สนับสนุนรายการทั้งหมด 12 แผ่นป้าย โดยมีรูปผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งพรานทะเล 6 ชนิด ชนิดละ 2 แผ่นป้าย โดยเปิดป้ายให้ได้ผลิตภัณท์อาหารแช่แข็งพรานทะเลที่ตรงกับที่กำหนดไว้ จะได้เงินรางวัลสะสม 5,000 บาท แต่ถ้าไม่ตรงกันจะไม่ได้เงินรางวัลเลย แต่ถ้าจับคู่ตรงกับที่กำหนดไว้ครบทั้ง 6 ชนิด จะได้เงินรางวัลสะสม 1,000,000 บาททันที ภายหลังได้เปลี่ยนกติกาใหม่โดยมีแผ่นป้ายผู้สนับสนุนรายการทั้งหมด 12 แผ่นป้าย โดยมีแผ่นป้ายพรานทะเลอยู่ 6 แผ่นป้ายและป้ายพรานเท่งอยู่ 6 แผ่นป้าย โดยเปิดป้ายให้ได้ป้ายพรานทะเล จะได้เงินรางวัลสะสม 5,000 บาท แต่ถ้าเปิดเจอป้ายพรานเท่ง จะไม่ได้เงินรางวัลเลย แต่ถ้าเปิดเจอป้ายพรานทะเลครบ 6 ป้าย จะได้เงินรางวัลสะสม 1,000,000 บาททันที เริ่มใช้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2550 ถึง ต้นปี พ.ศ. 2551

ลุ้นยิ้มลุ้นโชค

เกมนี้ เป็นเกมที่มาจากชิงร้อยชิงล้าน ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ตั๊ก และทดแทนเกมถังแตกที่เลิกใช้ไป โดยจะมีแผ่นป้ายของผู้สนับสนุนรายการทั้งหมด 12 แผ่นป้าย โดยจะมีรูปใบหน้าของเหล่าสมาชิกแก๊งสามช่าทั้ง 3 ได้แก่ หม่ำ, เท่ง และ โหน่ง ในอิริยาบถยิ้ม และเศร้า โดยแผ่นป้ายรูปหน้ายิ้ม และหน้าเศร้าจะมีอย่างละ 6 แผ่นป้ายด้วยกัน หากเปิดป้ายได้ใบหน้าของสมาชิกแก๊งสามช่าที่ยิ้มจะได้เงินรางวัลสะสม 10,000 บาท แต่ถ้าเปิดเป็นรูปสมาชิกแก๊งสามช่าที่เศร้าเกมจะหยุดลงทันทีแม้จะเปิดเป็นแผ่นป้ายแรกก็ตาม ทั้งนี้ หากสามารถเปิดป้ายสมาชิกแก๊งสามช่าที่ยิ้มได้ครบทั้ง 6 แผ่นป้าย จะได้รับเงินรางวัลสะสม 100,000 บาท เกมลุ้นยิ้มลุ้นโชคได้ยุติลงในวันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เป่ายิ้งฉุบ

เกมนี้ เป็นเกมที่มาจากชิงร้อยชิงล้าน ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ตั๊ก โดยจะมีแผ่นป้ายของผู้สนับสนุนรายการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมาเป็นแผ่นป้ายของผู้สนับสนุนหลัก (ผู้สนับสนุนหลักในการชิงโชค คือ กระทิงแดง ต่อมา กาแฟสำเร็จรูปเบอร์ดี้) ซึ่งมีหมายเลข 1-6 2 ฝั่ง ฝั่งละ 1 ผลิตภัณฑ์ (เบอร์ดี้ ไอซ์คอฟฟี่ และเบอร์ดี้ ทรีอินวัน) ทั้งหมด 12 แผ่นป้าย แบ่งเป็นมือรูปค้อน 4 แผ่นป้าย, มือรูปกระดาษ 4 แผ่นป้าย และมือรูปกรรไกร 4 แผ่นป้าย ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำการเลือกแผ่นป้ายผู้สนับสนุนรายการมา 6 แผ่นป้าย และวางในตำแหน่งที่ได้จัดไว้ จากนั้นจะต้องเปิดแผ่นป้ายให้ได้รูปมือสัญลักษณ์ที่สามารถชนะแผ่นป้ายรูปมือที่ติดไว้ด้านบนได้ โดยอ้างอิงจากกติกาของเกมเป่ายิ้งฉุบ (เช่นหากแผ่นป้ายด้านบนเป็นค้อน แผ่นป้ายล่างต้องเปิดให้ได้กระดาษ เป็นต้น) ถ้าหากสามารถเปิดแผ่นป้ายแล้วชนะแผ่นป้ายด้านบนได้ จะได้รับเงินรางวัลครั้งละ 5,000 บาท แต่ถ้าหากผลออกมาเสมอ (เปิดแผ่นป้ายได้เหมือนกับด้านบน) หรือผลออกมาแพ้ก็จะไม่ได้เงินรางวัลสะสม หากสามารถเป่ายิ้งฉุบชนะได้ครบทั้ง 6 แผ่นป้าย จะได้รับเงินรางวัลสะสม 1,000,000 บาท เกมเป่ายิ้งฉุบได้ยุติลงในวันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552 พร้อมกับเกมลุ้นยิ้มลุ้นโชค

ตู้มหาสมบัติ

เกมนี้ เป็นการจับฉลากเงินในตู้ลม กติกาคือมีฉลากราคาตั้งแต่มูลค่า 20 บาท / 50 บาท / 100 บาท / 500 บาท และ 1,000 บาท ชนิดละ 100 ใบ อยู่ในตู้ลม ให้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 คนส่งตัวแทน 1 คนในการจับฉลากราคาให้ได้มากที่สุดภายในเวลา 30 วินาที ถ้าหมดเวลาแล้วนำมานับฉลากราคาที่จับมาและเป็นเงินรางวัลสะสม โดยจะทำการสะสมรางวัลในเกมนี้ 2 รอบเหมือนกับเปิดแผ่นป้ายสะสมเงินรางวัลที่ผ่านมา (โดยเฉลี่ยผู้เข้าแข่งขันจะทำได้ประมาณ5,000บาท ถึง 20,000บาทต่อรอบ)

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชิงร้อยชิงล้าน ชะช่ะช่า //scholar.google.com/scholar?q=%22%E0%B8%8A%E0%B8%... //www.google.com/search?&q=%22%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E... //www.google.com/search?as_eq=wikipedia&q=%22%E0%B... //www.google.com/search?q=%22%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0... //www.google.com/search?tbs=bks:1&q=%22%E0%B8%8A%E... http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=... http://www.workpoint.co.th https://www.youtube.com/watch?v=NFV2D0HgLnk https://web.archive.org/web/20000816211226/http://... https://www.jstor.org/action/doBasicSearch?Query=%...